ข่าว

สาระน่ารู้ !!! การนำรถต่างประเทศมาใช้เพื่อการท่องเที่ยว

 

รถที่สามารถขออนุญาตเพื่อนำมาใช้ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว

  1. 1. รถยนต์นั่งซึ่งมีจำนวนที่นั่งรวมที่นั่งผู้ขับรถไม่เกิน 9 ที่นั่ง ทั้งนี้ ไม่รวมรถบ้าน
  2. 2. รถยนต์บรรทุก ที่มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 3,500 กิโลกรัม
  3. 3. รถจักรยานยนต์

“รถบ้าน” หมายความว่า รถยนต์ที่สร้างขึ้นหรือดัดแปลงเพื่อให้มีพื้นที่ในการพักอาศัยและมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับการพักอาศัยและการเดินทาง เช่น โต๊ะ ที่นั่ง ที่สำหรับนอน ที่ทำอาหาร ที่เก็บของ ห้องสุขา เป็นต้น ทั้งนี้ ในบางกรณีอาจเรียกว่า “มอเตอร์โฮม”

การขออนุญาตนำรถจดทะเบียนต่างประเทศเข้ามาใช้ในประเทศไทย

ผู้ที่มีความประสงค์ต้องการนำรถจดทะเบียนต่างประเทศเข้ามาใช้ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวจะต้องดำเนินการผ่านผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวตาม พ.ร.บ. ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551

  1. 1. จะต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภทนำเที่ยวจากต่างประเทศหรือประเภททั่วไปเท่านั้น
  2. 2. ดำเนินการยื่นคำขออนุญาตพร้อมเอกสารครบถ้วน ไม่น้อยกว่า 5 วันทำการ ก่อนวันแรกที่นำรถเข้ามาใช้ในประเทศไทย
  3. 3. ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจะต้องลงทะเบียนในระบบ Foreign Vehicle Permit System หรือ ระบบ FVP
  4. 4URL: https://fvp.dlt.go.th/ เพื่อดำเนินการยื่นคำขออนุญาตใช้รถผ่านระบบดังกล่าว
  5. 5. เมื่อคำขออนุญาตใช้รถได้รับการอนุมัติแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวสามารถติดต่อขอชำระค่าธรรมเนียมและขอรับเครื่องหมายแสดงการใช้รถได้ที่สำนักงานขนส่งจังหวัด ตามที่ได้แจ้งเอาไว้ในระบบ โดยสามารถเลือกดำเนินการ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดใดก็ได้

เงื่อนไขในการกำกับดูแลรถต่างประเทศ

ในกรณีที่ต้องการใช้รถเกินกว่าเขตจังหวัดชายแดนที่เดินทางเข้ามา ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจะต้องจัดให้มีผู้นำทาง โดยจะเป็นมัคคุเทศก์หรือตัวแทนที่ได้รับมอบหมายก็ได้ เพื่ออำนวยความสะดวกและประสานงานให้ผู้ใช้รถเดินทางด้วยความปลอดภัย มีหลักเกณฑ์ขั้นต่ำดังนี้

  1. 1. รถไม่เกิน 5 คัน: ผู้นำทางอย่างน้อย 1 คน พร้อมรถยนต์นำทางอย่างน้อย 1 คัน
  2. 2. รถ 6-15 คัน: ผู้นำทางอย่างน้อย 2 คน พร้อมรถยนต์นำทางอย่างน้อย 2 คัน
  3. 3. รถ 16 คันขึ้นไป: ผู้นำทางอย่างน้อย 3 คน พร้อมรถยนต์นำทางอย่างน้อย 3 คัน

ผู้นำทางจะต้องเป็นคนสัญชาติไทยและรถยนต์ที่ใช้นำทางจะต้องเป็นรถยนต์ที่จดทะเบียนในประเทศไทยอย่างน้อย 1 คัน กล่าวคือ ในกรณีที่มีรถยนต์นำทางมากกว่า 1 คัน คันที่เหลืออาจเป็นรถที่จดทะเบียนต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตและอยู่ในกลุ่มที่เดินทางคณะเดียวกัน ซึ่งมีผู้นำทางร่วมนั่งไปด้วยก็ได้

เอกสารประกอบสำหรับการยื่นขออนุญาต

ในการขออนุญาตแต่ละครั้ง ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจะต้องมีเอกสารดังต่อไปนี้

  1. 1.
    บัตรประจำตัวประชาชนหรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งรับรองจากนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทไว้ไม่เกิน 6 เดือน(ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวมิได้ดำเนินการด้วยตนเอง ต้องมีหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการ พร้อมแนบภาพถ่ายบัตรประจำบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ)
  2. 2.
    ภาพถ่ายใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวตาม พ.ร.บ. ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 พร้อมแนบเอกสารเกี่ยวกับผู้ขออนุญาตใช้รถและรถดังต่อไปนี้

พร้อมแนบเอกสารเกี่ยวกับผู้ขออนุญาตใช้รถและรถดังต่อไปนี้

  1. 1. ภาพถ่ายหนังสือเดินทางของผู้ขออนุญาตใช้รถ ที่มีอายุเหลือไม่น้อยกว่า 6 เดือน
  2. 2. ภาพถ่ายใบอนุญาตขับรถที่สามารถใช้ได้ในประเทศไทย ที่มีอายุเหลือไม่น้อยกว่า 60 วัน
  3. 3. ภาพถ่ายใบคู่มือจดทะเบียนรถ
  4. 4. หนังสือยินยอมจากเจ้าของรถ กรณีผู้ขออนุญาตใช้รถมิได้เป็นเจ้าของรถ
  5. 5. ภาพถ่ายหนังสือรับรองการผ่านการตรวจสภาพรถ
  6. 6. ภาพถ่ายตัวรถที่สามารถมองเห็นลักษณะรถ สีรถ และหมายเลขทะเบียนรถ อย่างน้อย 1 รูป
  7. 7. ภาพถ่ายหลักฐานการเอาประกันภัยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535
  8. 8. ภาพถ่ายหลักฐานการเอาประกันภัยประเภท 3 ซึ่งมีความคุ้มครองดังนี้
    1. ความคุ้มครองความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายของบุคคลภายนอกไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาทต่อหนึ่งคนในแต่ละครั้ง
    2. ความคุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาท ในแต่ละครั้ง
  9. 9. หลักฐานแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทาง เช่น สถานที่พักและกำหนดการต่างๆ

หากเอกสารใดไม่มีภาษาอังกฤษกำกับ จะต้องมีฉบับที่แปลเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ซึ่งรับรองการแปลจากหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศนั้น ได้แก่ หน่วยงานที่เป็นผู้ออกเอกสาร สถานทูต หรือสถานกงสุล เป็นต้น

อายุของเครื่องหมายแสดงการใช้รถ

การขออนุญาตนำรถเข้ามาใช้ในประเทศแต่ละครั้ง สามารถขออนุญาตได้ไม่เกิน 30 วัน รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 60 วันต่อปีปฏิทิน

ใบอนุญาตขับรถที่สามารถใช้ได้ในประเทศไทย

ใบอนุญาตขับรถที่สามารถใช้เพื่อการขับขี่ในประเทศไทยมีดังนี้

  1. 1. ใบอนุญาตขับรถที่ออกโดยรัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียน (ไม่รวมใบอนุญาตขับรถชั่วคราว)
  2. 2. ใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศ (International Driving Permit) ที่ออกภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ค.ศ. 1949

หากผู้ที่ประสงค์จะขับขี่เพื่อการท่องเที่ยวเที่ยวในประเทศไทยไม่มีใบอนุญาตขับรถประเภทข้างต้น จะต้องติดต่อขอรับใบอนุญาตขับรถชั่วคราว (ชนิดอายุ 30 วัน) ภายในวันแรกที่นำรถเข้ามาใช้ในประเทศไทย ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดภายในจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของด่านศุลกากรขาเข้า โดยผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวมีหน้าที่ดูแลและอำนวยความสะดวกในการจัดเตรียมเอกสารและนัดหมายสำนักงานขนส่งจังหวัดเป็นการล่วงหน้า

การขอรับใบอนุญาตขับรถชั่วคราว (ชนิดอายุ 30 วัน) กรณีไม่มีใบอนุญาตขับรถที่ใช้ได้ในประเทศไทย

เอกสารสำหรับการขอรับใบอนุญาตขับรถชั่วคราวมีดังนี้

  1. 1. หนังสือเดินทางที่มีอายุเหลืออยู่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน
  2. 2. หลักฐานแสดงที่พักอาศัยในราชอาณาจักร รับรองโดยผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว
  3. 3. ใบรับรองแพทย์แสดงว่าผู้ขับรถไม่มีโรคประจำตัวอันอาจเป็นอันตรายขณะขับรถและไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน มีอายุใช้ได้ตามที่แพทย์ผู้รับรองกำหนด ออกก่อนวันยื่นคำขอไม่เกิน 1 เดือน
  4. 4. ใบอนุญาตขับรถประเภทเดียวกันกับที่ขอรับซึ่งรัฐบาลของประเทศอื่นออกให้และยังไม่สิ้นอายุ พร้อมฉบับแปลภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษโดยหน่วยงานที่มีอำนาจ

ขั้นตอนในการขอรับใบอนุญาตขับรถชั่วคราวมีดังนี้

  1. 1. เข้ารับการทดสอบสมรรถภาพของร่างกาย
  2. 2. เข้ารับการอบรมจำนวน 1 ชั่วโมง
  3. 3. ชำระค่าธรรมเนียมและรับใบอนุญาตขับรถชั่วคราว 205 บาท

แอพลิเคชัน DLT FVP

ผู้ที่นำรถจดทะเบียนต่างประเทศเข้ามาใช้ในราชอาณาจักร สามารถดาวน์โหลด mobile application DLT FVP ได้ฟรี โดยในแอพลิเคชันมีข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ใช้ในระหว่างเดินทางอยู่ในประเทศไทย เช่น เครื่องหมายแสดงการใช้รถ แผนที่เส้นทางที่ได้รับอนุญาต สถานที่ท่องเที่ยว สถานีบริการน้ำมัน ร้านอาหาร โรงพยาบาล สถานีตำรวจ เป็นต้น รวมถึงมีหมายเลขโทรศัพท์เพื่อติดต่อในกรณีฉุกเฉิน สามารถดาวน์โหลดแอพลิเคชัน DLT FVP ได้ทั้งในระบบปฏิบัติการ iOS และ Android

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

  1. 1. ส่วนกลางติดต่อได้ที่กรมการขนส่งทางบก
    1. กลุ่มกิจการขนส่งระหว่างประเทศ กองแผนงาน (อาคาร 4 ชั้น 5)
    2. กลุ่มวิชาการขนส่ง สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 (อาคาร 2 ชั้น 3)
  2. 2. ส่วนภูมิภาคติดต่อได้ที่ สำนักงานขนส่งจังหวัดทุกจังหวัด

ขอบคุณข่าวสารจาก กรมการขนส่งทางบก PR.DLT.News

Most Popular

To Top