Special Tips

แก้ผ้าเอาหน้ารอด แก้รถยามจอดเจ๊ง เอาตัวรอดอย่างไรเวลารถเกิดปัญหา “ปฐมบท” ดูได้ทุกเพศทุกวัย

หลังจากที่เต็มอิ่มสายรถแต่งกันไปหลายรุ่นแล้ว ก็ขอเปลี่ยนบรรยากาศมาเป็นเนื้อหาสาระในการใช้รถแบบ “ขั้นพัฒนา” กันบ้าง คำว่า ขั้นพัฒนา ก็คือการมุ่งเน้นให้ความรู้และข้อมูลกับผู้ใช้รถแบบทั่วไปให้ “ติดตัว” เอาไว้ ตั้งแต่ขั้นตอนเริ่ม “สังเกตการณ์” ไปจนถึง “การเอาตัวรอด” เมื่อรถเกิดปัญหาต่างๆ เพราะส่วนใหญ่หากไม่มีความรู้ พอรถเริ่มจะเกิดปัญหา อาการเริ่มฟ้องมักจะไม่ใส่ใจ ปล่อยๆ มันไปจนเป็นเรื่องใหญ่ พอมีปัญหาแล้วก็ทำตัวไม่ถูก นี่แหละครับเราถึงมาพูดคุยกันถึง “ปฐมบท” กันก่อน ว่าควรจะมีข้อสังเกตอย่างไรเวลารถเกิดปัญหา และเวลาเกิดมาแล้วจะเอาตัวรอดอย่างไร อ่านให้จบแล้วท่านจะรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลย

ตาดู หูฟัง มือคลำ จมูกดม

            การขับรถของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มักจะ “ไม่สนสี่สนแปด” ก็ขับไปอย่างเดียวจริงๆ ไม่ค่อยสนใจอะไร ขับไปเล่นโทรศัพท์ไป เรียกว่าสติลอยไปไหนก็ไม่รู้จนทำให้เกิดอุบัติเหตุ (ขอด่าหน่อยเถอะน่า) ส่วนมากก็มักจะใช้ “รถใหม่” ที่อาจจะยังไม่มีอะไรเสียก็เลยไม่ใส่ใจ แต่จริงๆ แล้วรถทุกคันมีโอกาสเกิดปัญหาได้เสมอ รถป้ายแดงไฮโซคันเป็นสิบล้านจอดเดี้ยงหมดท่าริมถนนก็เยอะแยะไป จึงควรจะใช้ “การสังเกต” ระหว่างการขับรถ โดยใช้ “ประสาทสัมผัส” ที่เรามีนี่แหละครับ

ประการแรก “ตาดู” ก็ต้องหมั่นสังเกตว่ามีอะไรผิดปกติไหม โดยปกติเราก็จะดูจาก “มาตรวัดและไฟเตือน” ที่หน้าปัดรถเรา ถ้าเกิดจู่ๆ มีไฟเตือนขึ้นมา ก็ต้องดูว่าเป็นไฟอะไร หลักๆ เช่น…

  • ไฟรูปเครื่องยนต์ขึ้น คือ Check Engineศัพท์วัยรุ่นเรียก “เช็คเด้ง” แสดงถึงระบบเครื่องยนต์บางอย่างมีปัญหา โดยมากเป็นเซนเซอร์ต่างๆ ซึ่งบางครั้งก็อาจจะขับได้ปกติอยู่ ก็อย่าชะล่าใจ มันเริ่มจะส่อเค้าเกิดปัญหา มีโอกาสควรรีบเข้าศูนย์หรืออู่ที่มีเครื่องมือ Consultเช็ค Fault Code ว่าเกิดอะไรขึ้นทำไมมึงถึงเด้งมาเพราะถ้าปล่อยไปนานๆ เกิดมันเสียจริง “หยุดวิ่งแม่งเลย” ดื้อๆ แล้วท่านจะเดือดร้อน เพราะรถรุ่นใหม่ถ้าลองมันสั่ง Shut Down ตัวเองละได้แต่นั่งมองและรอรถสไลด์มาสอยไปอย่างเดียว อีกอย่าง คือ ไฟเช็คขึ้น รถขับได้ แต่ “อืด” เร่งไม่ไป กินน้ำมันมากผิดปกติ อันนี้เข้าสู่ Safe Mode หรือ “โหมดเซฟเครื่อง” ก็ถือเป็น “ขั้นสอง” ที่ระบบมันตัดเพียงแค่ให้รถมัน “พอวิ่งได้เท่านั้น” ถ้าเป็นเกียร์ออโต้ จะออกตัวอืด เพราะมันจะวิ่งได้แค่เกียร์เดียว ส่วนมากจะเป็นเกียร์ 3 อันนี้ก็สมควรจะรีบเช็คก่อนอะไรจะบรรลัยจักรไปมากกว่านี้
  • ไฟเตือนความร้อนเครื่องยนต์ จะเป็นรูปเทอร์โมมิเตอร์ ถ้าเครื่องเย็นมันจะขึ้นสีฟ้า ถึงอุณหภูมิปกติมันจะดับไป แต่ถ้ามันขึ้น “สีแดง” นั่นคือปัญหาเกิด ความร้อนสูงจัดเกินปกติ ทำให้เครื่องพังได้ อาจจะมาหลายอย่าง เช่น น้ำรั่วจากระบบหล่อเย็น หม้อน้ำรั่ว ท่อยางรั่ว หรือไม่ก็ พัดลมไฟฟ้าเสียหรือเสื่อม ระบายความร้อนไม่ได้หรือไม่พอ ให้ประคองหาจุดปลอดภัยจอดรถหลบให้ดี ให้สังเกตถ้ามี “ควัน” โชยออกจากหน้ารถ แสดงว่า “น้ำร้อนดันทะลักออกมา” ให้ดึงเปิดฝากระโปรงแล้วแง้มไว้เท่านั้น อย่าเปิดขึ้นมาทันที เพราะฝากระโปรงจะร้อนมาก รวมถึงน้ำอาจจะพุ่งมาลวกมือลวกหน้าได้ ใจเย็นๆ รอสักพักให้มันคลายความร้อนก่อนค่อยเปิดดู ถ้าจะให้ดีก็ควรหา “ผ้าชุบน้ำ” จับฝากระโปรงไว้ ค่อยๆ แง้มนะครับ ฟังเสียงดูถ้ามันมีเสียงฟี้ๆ ก็แสดงว่าในหม้อน้ำยังมีแรงดันสูงอยู่ ถ้าเปิดได้แล้วค่อยดู รอเครื่องเย็นลงค่อยหาน้ำมาเติม ลองดูครับ ถ้าเติมแล้วไหลโจ๊กออกหมดเลยก็แสดงว่าท่อยางหลุด แค่หลุดก็ลองสวมกลับเข้าไปดู แต่ถ้าถึงกับท่อยางแตกจากความเก่าอันนี้ก็ควรจะเรียกรถมาสอยไป เพราะถ้าฝืนขับไปมีโอกาสเครื่องพังสูง เว้นแต่สถานการณ์คับขันอยู่ในทางเปลี่ยว รอเครื่องเย็นสักหน่อย เติมน้ำแล้วค่อยๆ ขับมาจนถึงที่ปลอดภัยค่อยว่ากัน
  • ไฟเตือนแรงดันน้ำมันเครื่อง ถ้าขึ้นมาแสดงว่าน้ำมันเครื่องแรงดันตก อาจจะเกิดจากมีการรั่วในจุดต่างๆ ถ้ารถมีอายุหน่อยก็พวก “ซีลเครื่อง” ที่รั่ว น้ำมันเครื่องเหลือน้อยกว่ากำหนด หรือไม่ก็เคยเจอเครื่องรุ่นใหม่นี่แหละ ถ้าเคยรื้อเครื่องมาทำแล้วประกอบค่าความห่างชิ้นส่วนพลาดก็เป็นไปได้ บางคนก็ “ใช้น้ำมันเครื่องผิดเบอร์” ใสเกินไปแรงดันก็ตกได้ หรือไม่ก็ประเภท “ขี้เกียจถ่ายน้ำมันเครื่อง” ใช้ๆ ไปจนน้ำมันเครื่องพร่องต่ำกว่ากำหนดมากๆ น้ำมันเสื่อมสภาพหนักจนความหนืดเสีย หรือถ้าเลวร้ายกว่านั้น หนืดมากไปจนเป็นยางมะตอย พวกนี้พร้อมพังครับ ไม่ต้องบอกนะถ้ามันขึ้นไฟด่าขึ้นมาแล้วควรทำยังไง
  • ไฟรูปแบตเตอรี่ขึ้น เป็นการบ่งบอกว่า ไฟไม่ชาร์จ ปกติจะมีไดชาร์จปั่นไฟเข้าหม้อแบตเตอรี่ เพื่อนำไฟไปใช้ในรถ ถ้าไฟไม่ชาร์จ มันจะวิ่งต่อได้อีกสักพัก พอไฟหมดหม้อก็เรียบร้อย อาการนี้เกิดได้หลายอย่าง เช่น ไดชาร์จเสีย สายพานไดชาร์จขาด แบตเตอรี่มีปัญหา ที่เคยเจอก็คือ แผ่นธาตุขาด ทำให้ไฟไม่ชาร์จ ทางแก้ก็พยายามประคองรถ ปิดอุปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่จำเป็น เช่น เครื่องเสียง แอร์ ทนร้อนเอาหน่อยอย่างน้อยก็ไปได้ไกลกว่าก็ยังดี
  • อื่นๆ เช่น ไฟเตือนหลอดไฟขาด ถ้าไฟเบรกหรือไฟท้ายขาดจะบรรลัยเพราะคนขับก็ไม่เห็น รู้อีกทีพวกมาเอาตูดเราเป็นที่เบรกซะงั้น เพราะไม่เห็นไฟเบรกขึ้นไง นึกว่าไม่เบรกก็จี้เข้ามาในระยะประชิด ไฟเตือนเบรก ก็จะมี “เบรกมือค้าง” วิ่งๆ ไปเบรกไหม้ ถ้าไม่ได้ดึงเบรกมือ ก็จะมี “ผ้าเบรกกับน้ำมันเบรกจะหมด” ก็ควรรีบเช็คโดยด่วนเพราะไม่ใช่เรื่องล้อเล่น

ประการที่สอง “หูฟัง” เสียงผิดปกติต่างๆ อันนี้ก็จะเป็นจุดอ่อนของคนใช้รถทั่วไปที่เน้น “ฟังวิทยุ” ตลอดเวลาที่ขับรถ บางคนก็เปิดซะหยั่งกะผับเคลื่อนที่ อันนี้คุณจะไม่ได้ยินเสียงใดๆ มันก็ทำให้เป็นเรื่องขึ้นมาได้ ยังไงก็เปิดเสียงเพลงแต่พอดีๆ นะครับ จะได้ได้ยินเสียงผิดปกติต่างๆ ได้ หูจะได้ไม่หนวกก่อนวัยอันควร บอกตรงๆ ไอ้เรื่องเสียงดังต่างๆ นี่พูดยากครับ เพราะแต่ละคนก็ประสาทสัมผัสในการรับเสียงไม่เหมือนกัน และการทำเสียงบอกอาการก็ไม่เหมือนกันอีก เลยตอบได้ยากกว่ามันเป็นอะไรแน่ เสียงก็มาได้หลายอย่าง มันจะต้องมีอาการอย่างอื่นประกอบเสียงด้วยครับ

  • เสียงกุกๆ กัก เวลาขับรถผ่านถนนไม่เรียบ ประกอบกับมีอาการสะเทือน ความนุ่มน้อยลง ขับแล้วมันร่อนๆ พวงมาลัยไม่นิ่ง อันนี้เป็นอาการช่วงล่างหลวม ถ้าข้างหน้าก็จะมีพวก ลูกหมาก แร็คพวงมาลัย บูชปีกนก พวกระบบบังคับเลี้ยวต่างๆ ชิ้นส่วนจะเยอะกว่าช่วงล่างด้านหลัง ถ้ารถขับหน้าแล้วเลี้ยวดังแก่กๆๆ ก็ “เพลาดัง” เริ่มจะไปบ้านเก่าแล้ว ส่วนด้านหลังก็มีโอกาสดังเหมือนกัน ส่วนมากก็บูชต่างๆ เสื่อม ขาด แต่ถ้าเป็นเสียงอ๊อดๆ แอ๊ดๆ จากช่วงล่าง บางทีมันไม่ถึงกับเสีย แต่ “ขาดสารหล่อลื่น” ทำให้ฝืดและเกิดเสียง ถ้าเสียดสีไปเรื่อยๆ ก็จะเสียเร็วกว่าปกติ ควรเอาเข้าเช็คและใส่สารหล่อลื่นหน่อยจะดีมาก
  • ถ้าเร่งเครื่องแล้วมีเสียงประหลาดโผล่มา เช่น เสียงแกร๊กกกกกกก โดยมากเป็นอาการ “เขก” หรือ “น็อก” ของเครื่องยนต์ มาจากหลายสาเหตุ เช่น น้ำมันออกเทนไม่ถึง เคสนี้จะเกิดต่อเมื่อไปเติมน้ำมันแล้วมีเสียงเขกหลังจากเติมทันที เพราะบางปั๊มก็ผสมอะไรบ้าๆ บอๆ ลงไปเอากำไรมากๆ ทำให้ค่าออกเทนต่ำลง หรือ มีข้อผิดพลาดจากระบบจุดระเบิด มันอาจจะไม่พังทีเดียว แต่เขกบ่อยๆ ก็ไม่ดีครับ ทำให้ชิ้นส่วนภายในอายุสั้นพังก่อนวัยอันควรได้ แต่ถ้าเป็นเสียงจี๊ดๆ แหลมๆ มักจะมาจาก “สายพาน” อาจจะ “หย่อน” หรือ “ใกล้ขาด” อันนี้ก็สร้างความเดือดร้อนให้ได้มากถ้ามันขาดขึ้นมา ไฟก็ไม่ชาร์จวิ่งๆ ไปไฟหมดก็ดับ อ้อ อันนี้ถ้าไฟแบตเตอรี่ขึ้นมาด้วยก็ใช่เลย ถ้าสายพานปั๊มน้ำขาด ปั๊มน้ำไม่หมุนเครื่องจะร้อนจัด ปัญหาล้วนๆ กับอีสายพานเส้นเดียวนี่แหละ

ประการที่สาม “มือคลำ” จุดหลักๆ ก็จะเป็นการส่งสัญญาณสั่นสะท้านมาที่ “พวงมาลัย” โดยมากจะเป็นปัญหาจากช่วงล่าง ซึ่งบางอย่างก็เป็นสัญญาณอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ใส่ใจและปล่อยให้เกิดปัญหาหนัก

  • ถ้าขับตกหลุม หรือวิ่งไปจู่ๆ แล้วมีอาการพวงมาลัยสั่น อย่าเพิ่งตกใจ ให้ชะลอความเร็วก่อน เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรเจ๊งบ้าง ที่เคยเจอก็คือ “ตะกั่วถ่วงล้อหลุด” มันจะเป็นกาวติดกับขอบด้านในของล้อ วิ่งๆ ไปกาวเสื่อม ตกหลุมที หรือวิ่งๆ เหวี่ยงๆ ไปตะกั่วหลุดก็ทำให้เสียสมดุลย์ เกิดการสั่น อันนี้ไม่มีปัญหา อีกประการ “ยางบวม” เกิดจากยางหมดอายุ หรือ ยางบางยี่ห้อเกิดข้อผิดพลาดในการผลิต พอยางบวมก็ทำให้สั่นได้เหมือนกัน แต่เคยเจอระ Yum กว่านั้น คือ “นอตล้อขันไม่แน่น” วิ่งๆ ไปนอตคลาย ล้อจะหลุดเอานะครับ เจอกันบ่อยประเภทไปซ่อมอะไรที่ต้องถอดล้อกับช่างประเภท “เต่าถุยชุ่ยกุ่ย” เสือกขันนอตล้อไม่แน่น งานเข้ากันมาเยอะแล้วครับ ก็ขอให้ระวังกันตรงนี้ด้วย
  • แต่ถ้าเบรกแล้วดัง หลักๆ ก็ “ผ้าเบรกหมด” หรือ “จานเบรกเป็นรอย” ถ้ามีอาการสั่น ตัวการเลย คือ “จานเบรกไม่เรียบหรือคด” ก็ไปเจียร์ปรับหน้าจานเบรกให้เรียบ ถ้าจานเบรกบางเกินไปจนเจียร์แล้วเสี่ยง ก็ต้องเปลี่ยนจานเบรกใหม่
  • พวงมาลัยดึงไปข้างใดข้างหนึ่ง จะเรียกว่ารถกินซ้ายหรือกินขวา มีตัวการง่ายสุดที่คนละเลย คือ “ลมยางล้อด้านหนึ่งอ่อนกว่าอีกด้านมากๆ” มาจาก ยางรั่ว โดนตะปูตำ จุ๊บลมรั่ว ฯลฯ ถ้าวิ่งมาแล้วจู่ๆ พวงมาลัยดึงรถแว่บแฉลบไปทันที นั่นคือ “ยางแบนกระทันหัน” อาจจะวิ่งทับอะไรที่ตำยางให้รั่วได้ ต้องค่อยๆ ประคองกลับ อย่าตวัดพวงมาลัยกลับแบบรุนแรงแบบตกใจ จะทำให้รถเสียอาการหงายเงิบได้ ใช้เบรกแบบนุ่มนวลค่อยๆ ชะลอรถ แต่ถ้า “เบรกแล้วพวงมาลัยดึง” แสดงว่าเบรกสองฝั่งทำงานไม่เท่ากัน อาการเหล่านี้ต้องรีบตรวจสอบเพราะเกี่ยวกับชีวิตโดยตรง

ประการสุดท้าย “จมูกดม” อันนี้ก็เป็นเรื่องตั้งแต่สิวๆ ไปยันเรื่องร้ายแรงถึงชีวิต การใช้ประสาทสัมผัสในการรับกลิ่น ซึ่งรถยนต์โดยมากจะมี “กลิ่นไหม้” ซึ่งมันก็จะเป็นไหม้ได้หลายแบบ รวมไปถึง “กลิ่นเชื้อเพลิง” ที่เกิดการรั่วอีก ล้วนแล้วแต่จะทำให้เกิด “เฟาเม่า” หรือ “ไฟไหม้” รถได้ หากป้องกันไม่ทัน

  • กลิ่นไหม้จากระบบไฟฟ้า พูดยากเพราะมันเหมือนกลิ่นทองแดงและพลาสติกไหม้ ต้องคนเคยได้กลิ่นจะรู้ทันที ถ้ารถมีอายุเยอะหน่อย สายไฟก็จะ “เก่า” เสื่อมสภาพ รถใหม่ก็อย่าประมาท โดยเฉพาะสายบันเทิงซิ่งที่ชอบเพิ่มอุปกรณ์นู่นนี่มากมาย เครื่องเสียงเต็มพิกัด แต่ดันไปแท็บสายไฟซี้ซั้ว พ่วงนั่นพ่วงนี่บ้าบอคอห่านจนมันเกิดการโอเวอร์โหลด เมื่อกระแสไฟวิ่งผ่านเยอะๆ จึงเกิดความร้อนสูง ทำให้เกิดเพลิงไหม้ ถ้ามันลามเข้าแบตเตอรี่ก็มีระเบิดล่ะครับ ถ้าได้กลิ่นไหม้ขึ้นมาและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ควรจะรีบจอดและหาต้นตอของปัญหา ถ้ากลิ่นยังแรงไม่หยุด ควรจะ “ดับเครื่องและจอดพัก” แล้วหาวิธีนำรถเข้าซ่อมดีกว่า อย่าฝืนขับไปจนไฟลุกแล้วจะเดือดร้อนนะครับ
  • ต่อมาเป็นกลิ่นน้ำมัน จะเป็นเบนซินหรือดีเซลก็ตาม มันคนละอย่างกับกลิ่นควันรถนะครับ กลิ่นมันจะเหมือนตอนคุณเข้าปั๊มเติมน้ำมันนั่นแหละ ถ้าเกิดกลิ่นน้ำมันแรงผิดปกติ แสดงว่าเกิดการรั่วของท่อทางเดินน้ำมันเชื้อเพลิง โดยมากก็จะเป็น “ท่อยาง” ที่เสื่อมสภาพ แตกลายงา จนน้ำมันรั่วออกมา อีกอย่าง คือ คนที่นิยมใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์สูงๆ เช่น E85 แต่ดัน “ไม่เปลี่ยนท่อยาง” ให้รองรับได้ ก็จะเกิดปัญหาเรื่องท่อยางบวม รั่วเร็วกว่ากำหนด ถ้าอยากจะใช้ก็ไม่ผิดกติกา แต่ต้องเปลี่ยนท่อยางให้รองรับกับน้ำมัน E85 ได้ด้วย ถามต่อว่าถ้าน้ำมันรั่ว จะต้องทำอย่างไร “จอดดับเครื่องสิครับ” เพราะถ้าฝืนขับไป เร่งเครื่องน้ำมันฉีดแรง ท่อแตกก็ทำให้เกิดไฟลุกไหม้อย่างรวดเร็วได้
  • ส่วนอีกอย่าง คือ “กลิ่นแก๊ส” แรงผิดปกติ ก็แสดงว่าแก๊สรั่ว แต่อย่าเพิ่งตกใจเวอร์ไป ที่บอกเพราะคนชอบ “ไซโค” ว่าแก๊สรั่วแล้วจะระเบิด แล้วน้ำมันรั่วไม่ระเบิดเหรอครับ ??? ถ้ารถคุณเป็นระบบแก๊สรุ่นเก่า ก็ให้ปิดวาล์วแก๊สที่ถัง จะมีสองหัวหมุนมาด้านขวาปิดให้สุด แต่ถ้าเป็นระบบแก๊สรุ่นใหม่ๆ หน่อยจะมี “เซฟตี้วาล์ว” เวลาแก๊สรั่วจะตัดวาล์วทันที ทำให้ลดการเสี่ยงต่อเพลิงไหม้
  • กลิ่นควันเข้ารถ อันนี้ก็อันตรายเงียบ ดมนานๆ สะสมไปจะเกิดอาการมึนเศียรเวียนกบาล ถ้ารถเก่าๆ หน่อย พวกยางประตู ยางขอบต่างๆ เริ่มเสื่อมสภาพ เก็บกลิ่นและเสียงด้อยลงไป บางทีตกม้าตายง่ายๆ “กระจกปิดไม่สนิท” จะได้ยินเสียงลมเข้าด้วย หรือไม่ก็ไปปรับโหมดแอร์เป็นแบบเอาลมข้างนอกเข้ามา ทำให้เอากลิ่นควันเข้ามาด้วย อันนี้ไม่ยากแค่ปรับกลับไปเป็นโหมดลมหมุนวนในห้องโดยสารก็จบ

 

จัดเต็มกันไปครับ สำหรับเรื่องราวการเอาตัวรอดโดยใช้ประสาทสัมผัสที่เรามีเนี่ยแหละ ในการประเมินสถานการณ์ของรถยนต์ที่เราขับอยู่ ว่าออกอาการแบบนี้ จะสื่อถึงว่าอะไรจะเสีย และเป็นอันตรายมากน้อยแค่ไหน และเราจะแก้สถานการณ์อย่างไร แม้ว่าผู้ขับแนว “ขับอย่างเดียว” ทำอะไรไม่เป็นเลยก็เถอะ อย่างน้อยอ่านบทความนี้ก็ยัง “รู้ตัวก่อนที่จะเกิดอันตรายร้ายแรงได้” ไว้คราวหน้ามีเทคนิคอะไรเด็ดๆ เกี่ยวกับรถของเรา นำมาเรียบเรียงเป็นคำพูดสไตล์บ้านๆ เข้าใจง่าย ต้องติดตามชมกันครับ

 

Story by : Chairat

Most Popular

To Top