Special Tips

รถไฟไหม้ เรื่องใกล้ตัว เตรียมพร้อมหรือยัง ???

คงได้เห็นข่าวกันมามากแล้วนะครับ สำหรับ “เพลิงไหม้รถยนต์” จะพูดถึงประเภทขับมาดีๆ ไม่ได้เกิดอุบัติเหตุอะไร จู่ๆ “ไฟลุก” ซะงั้น ล่าสุดก็รถตู้โดยสารที่นำนักท่องเที่ยวขึ้นภูเขา จะไปชมทัศนีย์ภาพอันงดงามของหมอกงาม อากาศเย็น แต่กลับกลายเป็นหนีตายกันตาหูแหกจากเปลวเพลิงที่ลุกไหม้รถอย่างรวดเร็ว ซึ่งกรณีรถไฟไหม้โดยไม่มีอุบัติเหตุนั้น มัน “น่าสงสัย” และ “มีเงื่อออออนงำ” อะไรต่างๆ หรือเปล่านะ ???

     รถไฟไหม้ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ถ้าขาดการตรวจสอบระบบต่าง ๆ ในตัวรถอย่างถูกต้อง

ในสิ่งที่ “ออกสื่อ” และ “คำกล่าวหา” หลักๆ เลยครับ ถ้ารถคันนั้นติด “แก๊ส” เช่น LPG หรือ NGV นั้น จำเลยจะมาตกอยู่ที่มันทันที ดั่งคำตัดพ้อว่า “อะไรๆ ก็กรู” ถามว่าเป็นไปได้ไหม “เป็นไปได้” ครับ แต่ “ไม่ใช่ทั้งหมด” เพราะมันจะมีจำเลยอื่นๆ ร่วมด้วย !!! ไม่ใช่เอะอะก็แก๊สๆๆๆๆ ก็สื่อนี่แหละครับ มีอะไรสรุปไม่ได้ก็แก๊สรั่ว จนทำให้คนฝังใจอคติกับระบบแก๊ส และ “มองความด้านเดียว” ผมไม่ได้เจตนาเขียนเรื่องนี้มา “ดราม่า” กับใครทั้งสิ้น แต่จะให้ “มองหลายมุม” ว่าสาเหตุไฟไหม้รถมันมีตัวการอะไรที่เป็นไปได้บ้าง และทำยังไงถึงจะ “ป้องกัน” ไว้ก่อน ดีกว่ามานั่งดราม่าโทษอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง จนลืมพิจารณาถึงสิ่งอื่นๆ ไป…

 รถใหม่ใช่ว่าไฟจะไหม้ไม่เป็น แต่รถเก่าก็ยิ่งมีโอกาสที่จะเสี่ยงมากกว่า เนื่องจากอุปกรณ์ต่าง ๆ มีการเสื่อมสภาพ และคนส่วนใหญ่ก็จะไม่ตรวจเช็ครอมันเป็นเรื่องขึ้นมาก่อนถึงจะรู้สึก

อะไรที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้บ้าง

โดยปกติ รถยนต์ก็จะมีหลายองค์ประกอบ หลากชิ้นส่วน ซึ่งโดย “ตัวการ” มันก็มีไม่กี่อย่าง จะแบ่งเป็นหลักๆ ดังนี้…

ในห้องเครื่องก็จะมีอุปกรณ์ต่างๆ มากมาย แต่จุดที่จะเป็นเรื่อง ก็คือ “ท่อทางเดินเชื้อเพลิง” จะน้ำมันหรือแก๊สก็ตามแต่ รวมถึงระบบไฟฟ้าที่ทำเรื่องขึ้นได้เหมือนกันถ้าเกิดการผิดพลาด หรือ หมดอายุ

รถที่เริ่มมีอายุสักหน่อย ควรจะตรวจสภาพท่อทางเดินเชื้อเพลิงต่างๆ ด้วย อย่าประมาทว่ารถกรูใช้น้ำมันไม่มีอะไรหรอก ไอ้น้ำมันนี่แหละพอรั่วแล้วตัวทำไหม้ก่อนแก๊สด้วยซ้ำ ลองสังเกตดูด้วยตัวเองก่อนได้ ถ้าท่อยางมันเริ่มแข็งด้านๆ เอามือบีบจะมีเสียงซี๊ดๆ เอ้ย บีบแล้วแข็งกระโด๊ก ไม่มีการยืดหยุ่น มีร่องรอยการแตกลายงา นั่นแหละครับควรเปลี่ยนได้แล้วมันพร้อมจะพลีชีพเผารถคุณแน่นอน

ระบบน้ำมันเชื้อเพลิง

ตัวการหลักในการเกิดเพลิงไหม้ เพราะชื่อมันก็บอกแล้วว่า “เชื้อเพลิง” ก็ย่อมเป็นการหาของมาเผาไหม้ เพื่อเปลี่ยนจากพลังงานความร้อน ไปเป็นพลังงานกล ขับเคลื่อนให้เครื่องยนต์ทำงาน มีพลังงานที่จะขับเคลื่อนรถไปแต๊ดแต๋นั่นนู่นนี่ได้ เชื้อเพลิงก็จะต้องผ่าน “ระบบจ่ายน้ำมัน” เพื่อที่จะป้อนเข้าสู่เครื่องยนต์ มันก็มีชิ้นส่วนหลายอย่างมากๆ ครับ จริงๆ ถ้าเป็นรถเดิมจากโรงงาน ระบบพวกนี้ก็ต้องทดสอบในด้านความปลอดภัยมาแล้ว แต่คุณอย่าลืมว่า “สสารไม่มีอะไรคงที่” เมื่อมีอายุแล้ว ก็ถึง “กาลเสื่อม” ไปตามเวลา มันเลยทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นจากระบบแก๊สเสมอไป ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นรถที่มี “อายุ” สักหน่อย เพราะ “ท่อยางน้ำมันเชื้อเพลิง” (Fuel Hose) พวกนี้มันก็มีอายุใช้งานเหมือนกันนะครับ ตัวมันเป็นยาง พอใช้ไปนานๆ ก็จะเริ่ม “แข็ง แตกลายงา” ทำให้ไม่มีการยืดหยุ่น พอเจอแรงดันน้ำมันและการสั่นสะเทือนก็จะทำให้ “ท่อยางแตกร้าว” น้ำมันก็ฉีดพุ่งออกมาไปโดนไอ้ที่มันร้อนๆ ทำให้ “ไฟมา” ก็เป็นเหตุที่ทำให้เกิดอัคคีภัยตะไลเพลิงนั่นเองครับ…

ไอ้เรื่องท่อน้ำมันเชื้อเพลิงนี่ เอาเข้าจริงแล้วกว่าร้อยละ 164.6515 % ไม่เช็คกันหรอกครับ ส่วนใหญ่ก็ใช้ไปกันจนกว่าจะเกิดเรื่อง หรือไม่ก็ “ขายรถทิ้ง” ไปซื้อคันใหม่เสียก่อน โดยมากก็จะเป็นรถที่อายุอานามเกิน 5 ปี ก็น่าจะมีการเสื่อมสภาพมั่งแล้ว เอาเป็นว่า เมื่อใช้รถไปสัก 2-3 ปี (กรณีรถใหม่นะ) ก็ “ลองตรวจเช็คสภาพท่อยางน้ำมันเชื้อเพลิง” สักหน่อยจะเป็นไรไป ปกติแล้วมันก็ไม่ได้เสื่อมเร็วมาก เพราะของโรงงานแท้ๆ มันก็ว่ากันได้หลายปีอยู่ แต่ก็อย่าประมาทครับ รถมันมีการผิดพลาด (Defect) กันได้ ท่อยางอาจจะไม่เป็นอะไร แต่พวกตัวรัด (Clamp) อาจจะมีการคลายเกิดขึ้นก็ได้ ก็ต้องตรวจเช็คให้มันยึดได้อย่างแน่นหนาในตำแหน่งเดิม ไม่รู้นะ บางคนอาจจะบอกวิตกจริต แต่ถ้าเช็คได้ก็ขออุ่นใจกว่าไม่ดีเหรอครับ เกิดมีปัญหารถคุณไฟไหม้ขึ้นมาแล้วไอ้ตัวน้ำลายมันรับผิดชอบซื้อรถให้คุณใหม่มั้ยล่ะ…

                  ตัวอย่างของท่อยางน้ำมันที่หมดอายุ

ส่วนรถที่มีอายุเยอะหน่อย ถ้าคุณได้อ่านบทความนี้แล้วก็รีบตรวจเช็คกันได้เลย เพราะมันคงไม่อยู่ค้ำฟ้าแน่ๆ เพราะท่อยางอายุเยอะตามรถ มันก็เสื่อมไปแน่นอนครับ ในห้องเครื่องมีทั้งความร้อนสูง แรงสั่นสะเทือน รวมถึงการกัดกร่อนจากน้ำมันซึ่งท่านอาจจะนึกไม่ถึง ซึ่งถ้ามันลองพลีชีพแล้วก็เกิดเรื่องแน่นอนครับ ก็ลองเช็คสภาพดูหน่อย ถ้ายางเริ่มด้าน แตกลายงาเป็นริ้วๆ เอามือจับแข็งโป๊กไม่ยืดหยุ่นตัวเลย “เปลี่ยนให้หมดเถอะครับ”เว้ากันซื่อๆ อย่าขี้เหนียว ค่าท่อยางมันถูกกว่าซื้อรถใหม่เยอะครับ…

อันนี้เป็นท่อยางเกรดพิเศษ สำหรับรถที่โมดิฟาย เพิ่มแรงม้ามาก ๆ ควรจะเปลี่ยนตาม เพราะจะต้องใช้แรงดันน้ำมันสูงกว่าปกติมากถ้ายังใช้ท่อยางของเดิมเสี่ยงต่อการแตกเพราะทนแรงดันไม่ไหว แต่ถ้าเป็นรถบ้านๆ เปลี่ยนเกรดปกติก็พอ

อีกจุดก็คือ การเปลี่ยนท่อยาง “จะต้องซื้อของที่ได้มาตรฐานและใช้งานกับน้ำมันเชื้อเพลิงให้ถูกประเภท” ถ้าของมีมาตรฐานจะบอกไว้ชัดเจน ว่าเป็น Fuel Hose ที่ใช้กับน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉพาะ ทนแรงดันได้เท่าไร ยิ่งรถโมดิฟายแรงๆ เปลี่ยนปั๊มติ๊กใหญ่ๆ แรงดันเยอะๆ ก็ต้องใช้ท่อยางเกรดสูงขึ้น ของเกรดสูงพวกนี้จะรองรับได้ถึง E85 อันนี้แหละเราซื้อมาใช้ได้ ราคาอาจจะแพงสักหน่อยก็ยอมเหอะ ไม่ควรใช้ท่อยางอะไรก็ได้ยัดๆ เข้าไป บางอย่างมันไม่รองรับเชื้อเพลิงและแรงดันสูงนะครับ ใส่ไปแป๊บเดียวก็ “แตก” ตัวใครตัวมันเด้อ…

ท่อยางที่ผลิตมาสำหรับใช้กับระบบเชื้อเพลิง จะต้องบอกชัดเจนว่าเป็น FUEL LINE HOSE เพราะท่อยางมันมีหลายแบบ ออกแบบมาให้ใช้ต่างกันบางอย่างทนได้แต่แรงดันแต่ไม่ทนต่อการกัดกร่อนจากน้ำมันเชื้อเพลิงหรือพวกเอทานอลสูงๆ เอามาใช้แป๊บเดียวก็ “บวม” พร้อมแตก ต้องระวังนะครับ ใช้ให้ถูกเรื่อง

แปลงใช้น้ำมันผิดประเภท ระวัง !!!

อันนี้ก็ต้องพิจารณาและระวังกันหน่อย โดยเฉพาะรถที่เริ่มมีอายุ แล้วจะเปลี่ยนแปลงไปใช้เชื้อเพลิงที่มีส่วนผสม “เอทานอล” E สูงๆ  ซึ่งเราก็ไม่ได้โทษในตัวเชื้อเพลิง แต่พอแอลกอฮอล์มันเยอะ การกัดกร่อนมันก็สูงตามไป รถที่ผลิตมาให้ใช้เชื้อเพลิงเอทานอล พวกนี้จะผลิตวัสดุของระบบเชื้อเพลิงมารองรับอยู่แล้ว แต่ถ้ารถคุณไม่ได้ผลิตเผื่อมา แล้วไปดัดแปลงเพิ่มเพื่อให้ใช้เชื้อเพลิงเอทานอล ไม่ได้ผิดครับ ทำได้ แต่ !!! ถ้ารถเริ่มมีอายุแล้ว “จะต้องเปลี่ยนท่อยางที่สามารถรองรับเชื้อเพลิง E85 ให้ได้ด้วย” ซึ่งตอนนี้มีหลายคน “ตระหนัก” เปลี่ยนแบบครบชุด ก็จะใช้งานได้อย่างสบายใจ เตือนไว้ก่อนนะครับเดี๋ยวจะหาว่าไม่รักกัน…

ระบบแก๊ส โทษกันจัง

สำหรับจำเลยตลอดกาลก็มันนี่แหละครับ ไม่ว่าจะ LPG หรือ CNG นี่กูโดนตลอดดดดด อาจจะโดนกันบ่อยเพราะรถติดแก๊สมีเยอะ และก็ทำจากอู่ข้างนอก ซึ่งก็แล้วแต่ดวง ถ้าดวงดีไปเจออู่ที่ติดตั้งดี เอาใจใส่รายละเอียด ใช้ของใหม่ การขันข้อต่อต่างๆ ทำอย่างเรียบร้อย การเกิดข้อผิดพลาดก็จะน้อยลงไปเยอะ เว้นว่าจะซวยไปเจออู่ที่ไร้ฝีมือและมักง่าย ขาดความรับผิดชอบหรือเปล่า ติดตั้งไม่รอบคอบ เกิดการรั่วไหลของแก๊สก็อาจจะทำให้เกิดไฟลุกหรือเพลิงไหม้ขึ้นได้ (ขอให้สองคำสลับกันไปนะ ผู้เขียนอาจจะมึนๆ บ้าง อย่าได้ถือสากันนะแจ๊ะ) แต่จริงๆ เป็นไปได้ไม่ง่ายนัก เพราะแก๊สเวลารั่วมันจะ “ลอยตัว” ไม่ได้เป็นของเหลวพุ่งฉีดไปทั่วเหมือนน้ำมัน ซึ่ง LPG จะเป็นแก๊สหนัก มันจะลอยตัวไม่สูงมาก แต่ถ้า CNG เป็นแก๊สเบา รั่วปุ๊บก็ขึ้นสู่ด้านบนเลย และตัวถังแก๊สจะมีระบบ Safety Valve ถ้าเกิดการรั่ว มันจะ “ตัดปิดวาล์ว” ทันที…

สำหรับเคสของอุบัติเหตุ ผมมองมุมกลับครับว่า ถังแก๊สมันมีความหนากว่าตัวถังรถและถังน้ำมันตั้งเยอะ ยิ่งถัง CNG ก็ยิ่งหนาและหนักมาก ถ้าถึงขนาดชนจนถังแก๊สแตกกระจาย ตัวรถกับถังน้ำมันก็ไม่เหลือแล้วนะผมว่า อันนี้ถ้าอุบัติเหตุร้ายแรงมันก็ส่งผลกระทบกันหมดแหละครับ ตรงนี้ทำให้หลายคนกลัวระบบแก๊สกันเป็นแถว แต่ลองดูว่ารถใช้แก๊สก็มีเยอะแยะถ้ามันมีปัญหาคงไหม้หมดทุกคันแล้ว เอาเป็นว่า ถ้าจะใช้แก๊ส ก็เลือกอู่ที่ฝีมือดูดีหน่อย พอใช้ไปแล้วก็หมั่นเช็คระบบท่อแก๊สต่างๆ ข้อต่อต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่ดีพร้อมใช้ อย่างเร็วก็ 6 เดือนครั้ง ยอมเสียเวลาตรวจสอบบ่อยหน่อยแค่นี้ก็อุ่นใจถึงไหนถึงกัน…    

   ระบบแก๊สไม่น่ากลัวอย่างที่คิดหรอก ถ้าติดตั้งอย่างเรียบร้อย มีการตรวจเช็คสุขภาพของอุปกรณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้อต่อ ท่อยาง พวกนี้ต้องดูหากหมดอายุควรรีบเปลี่ยนทันที

ระบบไฟสายบันเทิงจัดหนัก ระวังไว้นะจ๋าจ๊ะ

ตัวการอีกอย่างที่โดนพาดหัว คือ “ไฟฟ้าลัดวงจร” ก็เป็นไปได้หรอกครับ ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดกับรถที่มีอายุเยอะ สายไฟต่างๆ เกิดการหมดอายุขัย เริ่มกรอบ แตก ทนความร้อนไม่ไหว พอเจอกระแสไฟวิ่งผ่านมากๆ เข้าก็ร้อนจัดจนเกิดไฟลุกไหม้ ไอ้เรื่องนี้มีสาเหตุหลายตัวครับ โดยเฉพาะ “สายไฟเมน” ที่ต้องรับโหลดกระแสไฟเยอะๆ ถ้าเก่าแล้วก็จะมีปัญหาได้ ถ้าลองมันไหม้แล้วลามเข้าไปที่ “แบตเตอรี่” ก็งานเข้าล่ะครับ บางทีรถใหม่ๆ เกิดการลัดวงจรก็เป็นได้ อีกเคสที่เคยเจอบ่อย คือ “หนูกัดสายไฟ” จนแหว่ง แล้วทองแดงสายแต่ละเส้นดันไป Spark กันเอง อันนี้ก็แสบไส้เข้าทรวง จนแทบอยากจะฆ่าให้หมดโลกจริงๆ ก็รวมถึงท่อยางน้ำมันด้วยที่โดนมันกัดทำเรื่องมาเยอะแล้ว…

สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องได้ ก็คือ “การติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าเพิ่มทีละเยอะๆ” เช่น เครื่องเสียง ยิ่งตูมตามยิ่งชอบ นึกว่า RCA เคลื่อนที่ ล่อกันเป็นพันๆ วัตต์ ลำโพงมาเป็นสิบๆ เรียกว่าระเบิดหูกันได้เลยทีเดียว ยังไม่พอ ต้องมีระบบบันเทิงต่างๆ อีก เช่น ไฟหน้าสีสันแสบบั้นท้าย เพิ่มวัตต์สว่างจ้า (แยงตาคนอื่นชิบไห ใครใส่แล้วขับสวนมาแสบตากรูแช่ง) ไฟเธคนั่นนู่นนี่ สารพัดแสงสีและลีลาพาให้เสียว โอ๊ย งานนี้ใช้กระแสไฟกันระห่ำ สายไฟนี่เลื้อยไปเลื้อยมาอย่างกับรังงู บางคันเห็นแล้วสยองสายไฟกล้าขับได้ยังไง (วะ) แถมยังไปต่อพ่วงๆ กันอย่างมักง่าย พวกนี้แหละครับ ที่จะทำให้เกิดโหลดกระแสไฟฟ้ามหาศาลจนสายไฟเกิดร้อนจัดหรือช็อต งานนี้ก็ตัวใครตัวมันล่ะครับ ใครบ้าเครื่องเสียง ก็ควรจะเน้นหนักในด้านการเดินระบบไฟให้มากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ อย่ามัวแต่หลงแสงสี เดี๋ยวเครื่องเสียงจะกลายเป็นเครื่องเสียวเอานะครับ…

ถ้าจะลั่นทุ่งกันขนาดนี้ อุปกรณ์ไฟฟ้าก็จะต้องทำให้เกิดโหลดกับระบบสายไฟอย่างมาก ยิ่งถ้าต่อแบบมักง่าย สักแต่พ่วงต่อๆ กันเป็นงู ตัวสายเมนหลักจะร้อนมากจนทำให้เกิดไฟลุกได้ ถ้าติดตั้งดีๆ มีการเดินระบบที่ถูกต้อง ก็จะปลอดภัยกว่า

ลางบอกเหตุ สังเกตหน่อยจะได้ไม่ถึงฆาต !!!

จะว่าไปไอ้เรื่องลางบอกเหตุมันก็มาจากการ “สังเกตสังการณ์” ของทุกคนนี่แหละครับ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าของรถ หรือ คนขับ เพียงอย่างเดียว แม้จะเป็นผู้โดยสาร (สายเกาะ) ก็หมั่นสังเกตอาการผิดปกติหน่อย ถ้าจะเกิดการลุกไหม้จะมี “กลิ่น” มาก่อน อย่างเช่น มีกลิ่นน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ารถมาอย่างผิดปกติ หรือ มีกลิ่นเหม็นไหม้ใดๆ เกิดขึ้น จะต้องรีบหาทางจอดรถในจุดที่ปลอดภัย ออกจากรถมาเพื่อตรวจสอบ หากคุณตรวจสอบเองไม่เป็น อย่างน้อยถ้าได้กลิ่นเหม็นน้ำมันหรือเหม็นไหม้รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ควรจะ “เตรียมตัวดับเพลิง” แนะนำว่าควรจะมีถังดับเพลิงติดไว้ในรถด้วยจะดีไม่น้อย แต่ถ้าไม่มีจริงๆ สถานการณ์ไม่ดีก็ “เตรียมตัวเผ่น” เหอะครับ ถอยห่างจากตัวรถมาตั้งหลักก่อน โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือ ดีกว่าปล่อยจนเกิดไฟไหม้ขึ้นมามันเร็วมากนะครับ คุณอาจจะหนีไม่ทันโดนย่างสดด้วยก็ได้ ถ้ารู้ทันก่อนก็จะแก้ไขหรือเซฟชีวิตเราได้ครับ…

บทสรุป กันไว้ดีกว่าแก้

บอกตรงๆ ว่าผมไม่รู้จะพูดอะไรที่มันดีกว่านี้ คำนี้ผมว่ามันคือสุดยอดแล้วนะครับกับ “กันไว้ดีกว่าแก้ ถ้ามันแย่แล้วแก้ไม่ทัน” เรื่องไฟไหม้มันไม่สนหรอกครับว่ารถอะไร รถยุโรปดีๆ แพงๆ ก็ไหม้ไปไม่รู้กี่คันแล้ว หากเราป้องกันไว้ก่อน เช่น ตรวจเช็คสภาพเครื่องยนต์ ท่อน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะแก๊สหรือน้ำมัน ต่างก็เกิดไหม้ได้ทั้งนั้น บางทีออกข่าวว่าไฟไหม้จากแก๊สระเบิด แต่พอถ่ายรูปมารถคันนั้นถังแก๊สยังอยู่ดี ไหม้เฉพาะข้างหน้ารถ บางทีเสพย์ข่าวพวกนี้ก็ต้องพิจารณากันเยอะๆ ครับ สำหรับระบบไฟ ก็ต้องสังเกตเท่าที่จะทำได้ ว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับชุดสายไฟมั้ย ถ้าดูแล้วเห็นจุดที่มันรุ่ยๆ เหมือนหนูแทะก็นั่นแหละครับต้องเอารถเข้าเช็คดีกว่า โดยอื่นๆ ไม่มีอะไรนะครับ ถ้าเราหมั่นตรวจสอบเช็คสภาพระบบต่างๆ ให้ดี พระเพลิงไม่มาเยือนแน่นอนครับ…

 ถังดับเพลิงขนาดพกพา ควรจะมีติดรถเอาไว้ ยึดติดให้แน่นหนาในจุดที่หยิบฉวยได้ขณะฉุกเฉิน จำไว้ว่า มีแล้วไม่ได้ใช้ ดีกว่าจะใช้แล้วไม่มี

Most Popular

To Top